Time's up for time-out?

รินตั้งชื่อตอนนี้ไว้ว่า หมดเวลาสำหรับการทำ Time-out แล้วหรือ เพราะไม่ต้องการตัดสินว่ามันดีหรือไม่ดี แต่ต้องการให้ข้อมูลให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจการทำ time-out มากขึ้น ก่อนจะตัดสินใจทำ time-out ในแต่ล่ะครั้ง เพื่อประโยชน์สูงสุดของครอบครัว และเพื่อไม่ให้มีผลเสียที่คาดไม่ถึงตามมาค่ะ

จุดกำเนิดของ time-out มาจากความต้องการตัดลูกออกจากสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดพฤติกรรมไม่ดี เพื่อให้เด็กสามารถสงบลงได้ และจากความรู้ที่ว่าถ้าเราให้รางวัลกับพฤติกรรมไม่ดีของลูกก็ยิ่งจะทำให้พฤติกรรมไม่ดีนั้นรุนแรงขึ้น

time-out จึงถูกออกแบบมาเพื่อแยกลูกออกจากสิ่งเร้าต่างๆ เช่น ของเล่น ทีวี พี่น้อง เพื่อให้ลูกได้สงบอารมณ์ลง และกลับไปเข้าร่วมกิจกรรมได้อีกครั้งเมื่อครบกำหนดเวลา เพื่อช่วยเหลือลูกให้คุมอารมณ์ตัวเองได้

แต่เพราะการใช้ time-out มันง่าย ไม่รุนแรง และเห็นผลทันที พ่อแม่หลายท่านเลยเลือก time-out มาทดแทนการตี นั่นทำให้จุดประสงค์ของ time-out เปลี่ยนจากการเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยเหลือลูกและเพื่อให้ลูกหัดคุมอารมณ์ตัวเองได้ มาเป็นเครื่องมือในการลงโทษลูกเมื่อมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม และควบคุมพฤติกรรมของลูก ปัญหามันเริ่มเกิดตรงนี้แหละค่ะ

เมื่อเราต้องการลงโทษลูก ท่าที สีหน้า และน้ำเสียงของเราก็จะแตกต่างจากเมื่อเราต้องการช่วยเหลือลูก และเมื่อเราต้องการนำ time-out มาใช้เพื่อลงโทษ เราก็มักจะนำ time-out ไปใช้อย่างผิดๆ จากที่มาของ time-out จะเห็นได้ว่า time-out ไม่ได้ถูกคิดค้นมาเพื่อควบคุมลูก ไม่ได้ให้เรามาใช้ตอนที่ลูกดื้อ ไม่เชื่อฟัง ไม่ยอมทำการบ้าน ไม่ยอมแบ่งของเล่น ผลที่ตามมาคือ เราใช้มันบ่อยเกินไป จน time-out เริ่มไม่ได้ผล ลูกดื้อมากขึ้น เราต้องใช้มาตรการที่รุนแรงขึ้น และมีรายงานการวิจัยว่าการนำ time-out มาใช้เพื่อลงโทษลูก ยังสร้างความเสียหายให้กับสมองไม่แตกต่างจากการลงโทษด้วยวิธีรุนแรงด้วยค่ะ

Time-out ก็เป็นเครื่องมืออย่างนึงค่ะ ก็ไม่ต่างจากมีด มันมีประโยชน์ แต่ก็ต้องใช้ให้เป็นไม่งั้นมีดก็บาด สรุปสั้นๆ เพื่อความเข้าใจตามนี้ค่ะ

จุดประสงค์ของ Time-out
Time-out มีไว้เพื่อให้เราช่วยเหลือลูก ให้สามารถสงบอารมณ์ลงได้

เมื่อไหร่ถึงควรทำ Time-out
เมื่อลูกมีอาการควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่อยู่ และเราเห็นว่าการช่วยเหลือลูกออกจากสิ่งที่กำลังเร้าอารมณ์เขาในขณะนั้นสามารถช่วยเขาได้

จุดเด่นของ Time-out
1) ลูกได้อยู่ในพื้นที่ที่สงบ ไม่มีสิ่งเร้า ทำให้อารมณ์สงบลงได้เหมือนเรานั่งสมาธิ
2) เป็นวิธีที่ไม่รุนแรงที่ใช้ง่ายที่สุด เหนื่อยน้อยสุด

จุดด้อยของ Time-out
1) ลูกอาจรู้สึกว่าเมื่อเขามีอารมณ์หรือพฤติกรรมไม่ดีเขาจะไม่เป็นที่ยอมรับ ทำให้เขาเลือกที่จะไม่แสดงออกเพื่อให้เราพอใจ ซึ่งการเก็บกดอารมณ์เอาไว้ ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพจิต
2) เขาต้องเรียนรู้วิธีการสงบอารมณ์ด้วยตนเอง ไม่มีเราคอยชี้นำ
3) Time-out ไม่ได้ช่วยให้ลูกคิดได้ว่า สาเหตุของพฤติกรรมนั้นคืออะไร

ข้อควรระวังเมื่อต้องการนำ Time-out มาใช้
1) เด็กต้องไม่กังวลการแยกจากแม่ (พ้นช่วง separation anxiety มาแล้ว โดยทั่วไปที่ประมาณ 3 ขวบ)
2) ไม่ใช้กับเด็กที่อ่อนไหว หรือขี้น้อยใจ
3) ไม่นำ time-out มาใช้เพื่อลงโทษ
4) เมื่อทำ time-out เสร็จแล้ว ให้เข้าไปพูดคุยแสดงความรัก ชื่นชมที่ลูกสงบอารมณ์ได้ เพื่อป้องกันลูกเข้าใจเราผิด

ขอแชร์ประสบการณ์ให้ฟังนะคะ รินเคยนำ time-out มาใช้กับลูกครั้งนึง ตอนนั้นยังไม่เข้าใจว่าลูกเราเป็นเด็กเซ้นสิทีฟ (ลองทดสอบว่าลูกเป็นเด็กเซ้นสิทีฟหรือเปล่าได้ที่นี่นะคะ http://hsperson.com/test/highly-sensitive-test/) ผลคือ ลูกเข้าใจผิดว่ารินไม่รักค่ะ ลูกแสดงอาการของเด็กที่ใจแตกสลาย ต้องตามแก้ไขความเข้าใจผิดกันเป็นอาทิตย์เลยค่ะกว่าจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม หลังจากนั้นก็ไม่กล้าแตะ time-out อีกเลย แต่ก็น่าแปลกที่อยู่ๆ ตอนนี้ (3 ขวบกว่า) ลูกเลือกที่จะทำ time-out ตัวเอง บางครั้งที่ลูกรู้สึกถูกกระตุ้นมากๆ "ลูกจะบอกว่า ขออัณณานั่งเฉยๆ ได้มั้ยแม่" แล้วเขาจะไปหาที่นั่งสงบๆ มุมเงียบๆ ของเขาเอง นั่งเฉยๆ ไม่ทำอะไรเลยค่ะ พอดีขึ้นแล้วก็จะกลับมาหา ยิ้มแป้น ชวนรินคุยเหมือนเดิม



เพราะเด็กแต่ล่ะคนแตกต่างกัน จึงไม่มีเครื่องมือไหนที่เหมาะกับเด็กทุกคน เราถึงควรศึกษาแต่ล่ะเครื่องมือให้เข้าใจถ่องแท้ เพื่อที่จะได้นำมาปรับใช้อย่างเหมาะสมค่ะ

ถ้าถามรินว่า อ้าว รินใช้ time-out ไม่ได้ แล้วรินใช้อะไรล่ะ รินใช้ time-in เป็นส่วนใหญ่ และให้ธรรมชาติช่วยบำบัดบ้างเป็นบางครั้งค่ะ แล้วจะเล่าให้ฟังนะคะ :)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สิ่งจำเป็นพื้นฐาน 4 อย่าง (Maslow's hierarchy of needs - 4 basic needs)

การเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ (Importance of Play)

คิดก่อนสอน (Respond not react)