เค้าว่าความทรงจำเหมือนลิ้นชักตู้เสื้อผ้า จริงเหรอ?

มีคนเคยบอกว่า เราเก็บความทรงจำไว้เป็นท่อนๆ แบบคอมพิวเตอร์เก็บข้อมูล อยากใช้ส่วนไหนก็แค่เปิดลิ้นชักนั้น แล้วหยิบข้อมูลชิ้นนั้นออกมา อืม ฟังดูน่าเชื่อดีนะคะ คงจะสะดวกไม่น้อยเลย ถ้าเราเลือกได้ว่าจะหยิบอะไรไม่หยิบอะไร

จริงๆ แล้วสมองเราไม่ได้ทำงานแบบนั้นค่ะ เคยสังเกตมั้ยคะ เวลาเรานั่งรถแล้วเปิดเพลงเก่าๆ สมัยเราเรียนอยู่ เราจะนึกย้อนไปถึงวันที่เรากระโดดแด๊นซ์กันมันระเบิดอยู่กับเพื่อนๆ หรือถ้าลูกเราโตจนสอบเข้า ม.ปลายแล้ว บังเอิญเราเก็บบ้านแล้วเจอยางกัดเก่าๆ (ไม่ได้เก็บบ้านนานไปรึเปล่าเนี่ย) สมัยลูกคันเหงือกหล่นอยู่ใต้โซฟา ภาพเก่าๆ สมัยที่ลูกชอบเอามือเข้าปาก หัดพลิก หัดคืบ มันก็จะกลับมาพร้อมกับความรู้สึกที่ท่วมท้น

นั่นเพราะสมองเราผูกความรู้สึกกับประสบการณ์เข้าด้วยกัน แล้วเก็บไว้เป็นความทรงจำค่ะ

แล้วความรู้นี้มันมีประโยชน์ยังไง โอ้ ต้องบอกว่าเอาไปประยุกต์ใช้ได้เยอะเลยค่ะ ปกติเรามีความสุข เราถึงจะยิ้มใช่มั้ยคะ แต่สมองเราผูกยิ้มกับความสุขเข้าด้วยกันค่ะ เพราะฉะนั้น ลองตื่นมาแล้วยิ้มให้ตัวเองดู เราก็จะรู้สึกมีความสุขค่ะ หรือพ่อบ้านใจกล้าบางท่านแค่เห็นไม้แขวนเสื้อก็รู้สึกเจ็บปวดแล้ว นั่นเพราะมันผูกประสบการณ์ไม้แขวนเสื้อ เข้าไว้ด้วยกันกับความรู้สึกเจ็บปวดค่ะ

ลองเอามาใช้กับลูก ถ้าเรากอดลูกเราทุกครั้งที่เรากลับมาเจอหน้ากัน ลูกก็จะผูกเหตุการณ์แม่กลับบ้านไว้กับความรู้สึกรัก อบอุ่น และผูกพัน หลังจากนั้นพอเห็นแม่กลับบ้านเมื่อไหร่ เด็กก็จะรู้สึกอบอุ่น เด็กบางคนถึงกับกางมือโผเข้าหาอย่างมีความสุขเลยค่ะ (รินกอดกับลูกทุกเย็นเหมือนกัน ได้ผลดีนะคะ เป็นการกระชับความสัมพันธ์ด้วยค่ะ)

การกอดกันทุกเย็นสำหรับเด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียน ยังเป็นการบอกลูกด้วยว่า หนูพยายามได้ดีมาก แม่ภูมิใจในตัวหนู และเป็นการเติมพลังให้เจ้าตัวน้อยด้วยค่ะ

มากอดลูกกันนะคะ ลูกจะได้ผูกความรู้สึกรัก อบอุ่น เก็บไว้ในสมองเค้าทุกครั้งที่เจอเราค่ะ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สิ่งจำเป็นพื้นฐาน 4 อย่าง (Maslow's hierarchy of needs - 4 basic needs)

การเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ (Importance of Play)

คิดก่อนสอน (Respond not react)