ความมหัศจรรย์ของเซลล์ประสาทกระจก (Mirror Neuron)

เคยมีปัญหากับเจ้านักก๊อปปี้ตัวน้อยที่บ้านกันมั้ยคะ รินมีอยู่บ่อยๆ เลยค่ะ ทั้งท่าทางทั้งคำพูด นี่ล่าสุดลูกสาวตัวน้อยเริ่มเอาเท้าเปิดพัดลม แหะๆ สงสัยรินเองจะเผลอทำให้ลูกเห็นน่ะค่ะ

ที่เป็นแบบนั้นเพราะเจ้าเซลล์ประสาทที่ชื่อมิเรอร์นิวรอนนั่นเองค่ะ มิเรอร์นิวรอนถูกค้นพบโดยบังเอิญระหว่างที่เจ้าหน้าที่วิจัยกำลังนั่งกินขนม แล้วเจ้าลิงที่อยู่ในศูนย์วิจัยมองมา ปรากฏว่าเซลล์ประสาทในสมองลิง ทำงานเหมือนกับว่ามันได้กินเองยังไงยังงั้นเลย เจ้าเซลล์กลุ่มนี้ ส่วนนึงมีหน้าที่สะท้อนลักษณะท่าทาง (แบบที่คู่รักที่ใช้เวลาอยู่ด้วยกันนานๆ จะเดินเหมือนกัน หรือเวลาเราเห็นคนอื่นหาวเราก็จะหาวตาม) อีกส่วนนึงทำหน้าที่สะท้อนความรู้สึก (อย่างเช่น เวลาเราเห็นคนอื่นโดนเข็มตำนิ้ว เราก็รู้สึกเจ็บไปด้วย หรือเวลาเราเห็นลูกเสียใจ เราก็เสียใจไปกับเขาด้วย)

ว่ากันว่าเจ้ามิเรอร์นิวรอนนี้ ทำให้สมองกลายเป็นอวัยวะที่เป็นอวัยวะสังคมค่ะ เนื่องจากในส่วนที่สะท้อนความรู้สึกของมันทำให้เรารู้สึกถึงความรู้สึกของคนอื่น ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นที่มาของความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานของทักษะทางสังคมนั่นเองค่ะ

เมื่อมาประยุกต์ความรู้นี้เข้ากับการสอนเด็กแล้ว มิเรอร์นิวรอนช่วยให้การสอนเด็กในเรื่องยากๆ ง่ายขึ้นมากเลยค่ะ เคยได้ยินมั้ยคะ เด็กน้อยชาวอินเดียนสามารถขี่ม้าได้ตั้งแต่ยังไม่หัดเดิน หรือลูกของนักปีนเขาคู่หนึ่งที่ปีนผาจำลองได้ตั้งแต่ยังเดินไม่เป็น แต่มันก็เป็นดาบสองคม เพราะนั่นแปลว่า ถ้าเราทำอะไรไม่เหมาะสม ลูกก็พร้อมจะเลียนแบบไปตามธรรมชาติ อย่างที่เมาคลีเดินและกินแบบหมาป่าทั้งๆ ที่เป็นลูกมนุษย์ค่ะ

อ้อ มีเรื่องพึงระวังเรื่องนึงค่ะ มีงานวิจัยบางชิ้นบอกว่า มิเรอร์นิวรอนทำงานแม้การมองเห็นนั้นจะผ่านหน้าจอทีวีนะคะ ในชีวิตจริง เราคงไม่เกรี้ยวกราดตะโกนด่าหรือจิกหัวตบกันแบบในละครให้ลูกเห็น แต่ถ้าลูกเราเห็นสิ่งเหล่านี้จากละคร มิเรอร์นิวรอนของลูกก็ทำงานและลูกเราก็พร้อมจะเลียนแบบนะคะ

พอรู้แบบนี้แล้ว ถ้าเราต้องการให้ลูกโตมาเป็นคนแบบไหน เราก็ต้องทำตัวเราให้เป็นคนแบบนั้น นั่นหมายถึงการเปลี่ยนตัวเรา เปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนทัศนคติที่ฝังลึกมานาน เพื่อให้ลูกได้เลียนแบบในสิ่งที่ดี สิ่งที่ถูกต้อง เพราะคงไม่มีประโยชน์อะไรที่แม่ปูจะบอกลูกปูให้เดินตรงๆ ในเมื่อตัวเองยังเดินเบี้ยวให้ลูกเห็นอยู่เลย

อ่อนโยนกับลูก เพื่อให้ลูกเป็นเด็กที่อ่อนโยน
ใส่ใจความรู้สึกลูก เพื่อให้ลูกเรียนรู้ที่จะคิดถึงความรู้สึกคนอื่น
แก้ปัญหาอย่างมีสติ ลูกก็จะหัดใช้สติและปัญญาในการแก้ปัญหา
คิดดีทำดีให้ลูกเห็น เพื่อให้ลูกเรียนรู้ที่จะคิดดีทำดีต่อไป

เพราะแบบนี้ เขาถึงว่า ลูกเปลี่ยนเราให้เป็นคนที่ดีขึ้น ขอให้สนุกกับการเปลี่ยนตัวเองไปในทางที่ดีขึ้นนะคะ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สิ่งจำเป็นพื้นฐาน 4 อย่าง (Maslow's hierarchy of needs - 4 basic needs)

การเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ (Importance of Play)

คิดก่อนสอน (Respond not react)