รักวัวให้ผูก รักลูกต้องไม่ตี

สำหรับริน มันเป็นเรื่องน่าเศร้าเมื่อทุกครั้งที่เห็นเด็กที่มีพฤติกรรมไม่ดี ทุกคนมักจะชี้ไปที่พ่อแม่แล้วกล่าวหาว่าไม่อบรมสั่งสอน พร้อมกับแนะนำให้ตี ไม่ว่าจะด้วยการยกตัวอย่างว่าตัวเองถูกตีมาจึงได้ดี ยกตัวอย่างว่าตัวเองตีลูกแล้วลูกเรียบร้อยเชื่อฟัง หรือแม้กระทั่งยกตัวอย่างสุภาษิตไทย ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี มาเพื่อกดดันให้ตี


แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ การตีคือการสั่งสอนจริงหรือ ต้องตีถึงจะได้ดี ถ้าไม่ตีแล้วจะกลายเป็นคนที่ก้าวร้าว ไม่เคารพกฎกติกา โตไปเป็นคนที่ไม่ได้เรื่องจริงหรือ? ก่อนจะหันมือไปตีลูกตามที่คนรอบข้างบอกให้ทำ ลองมาดูข้อมูลนี้กันก่อนค่ะ

ไม่ตีจะไม่ได้เรื่อง?

ก่อนอื่นรินขอแนะนำประเทศที่ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก 10 อันดับแรกในปี 2015 ก่อนค่ะ
1) Switzerland 2) Iceland 3) Denmark 4) Norway 5) Canada 6) Finland 7) Netherlands 8) Sweden 9) New Zealand และอันดับที่ 10) Australia

ทำไมอยู่ๆ รินถึงพูดถึงเรื่องนี้ เพราะการได้ตำแหน่งประเทศที่มีความสุขที่สุด นั่นแปลว่าคนที่นั่นสุขภาพจิตดี ประเทศมีความเจริญทางจิตใจ การคอรัปชั่นต่ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการอบรมสั่งสอนในตอนเด็กค่ะ

สิ่งที่น่าสนใจอยู่ตรงนี้ค่ะ จากประเทศที่ติด 10 อันดับแรกที่กล่าวมาข้างต้น มีถึง 7 ประเทศที่การตีเด็กผิดกฎหมาย นั่นแปลว่า พลเมืองทั้งประเทศของเขาเติบโตมาโดยไม่ถูกตี โดยปีที่เริ่มใช้กฎหมายห้ามตีเด็ก เป็นดังนี้ค่ะ Sweden 1979, Finland 1983, Norway 1987, Denmark 1997, Iceland 2003, Netherlands 2007, New Zealand 2007

จะเห็นได้ว่าหลายประเทศบังคับใช้กฎหมายห้ามตีเด็กมานานแล้ว สวีเดนบังคับใช้มา 36 ปี ฟินแลนด์ 32 ปี และนอร์เวย์ 29 ปี ปัจจุบันประเทศเหล่านี้เต็มไปด้วยผู้ใหญ่ที่ไม่เคยถูกตีเลยในวัยเด็ก แต่ประเทศก็ยังสงบสุข ไม่วุ่นวาย ประชาชนมีศีลธรรมและมีความสุขดี นอกจากนี้ จากการตามศึกษาผลของการบังคับให้เลิกตีเด็กจากประเทศสวีเดนพบว่า วัยรุ่นของสวีเดนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการลักขโมย อาชญากรรม ยาเสพติด ข่มขืน การดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งฆ่าตัวตาย นอกจากจะไม่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังลดลงอีกด้วย นั่นแปลว่า การตีไม่ใช่ส่วนประกอบของการสั่งสอนเด็กให้โตไปได้ดี

ข้อสรุปที่ 1 : ไม่ตีก็ดีได้

จากข้อมูลข้างต้น เราเห็นแล้วว่า การตีไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับการสอนเด็กให้ดี แล้วถ้ายังอยากใช้การตีเพื่อสั่งสอนล่ะ ทำได้หรือไม่ และควรทำหรือไม่ ก่อนอื่นเพื่อความชัดเจน คำว่าตีในที่นี้หมายถึงการทำโทษทางร่างกายทั้งหมด แต่ไม่รวมการตีเชิงสัญลักษณ์เช่นการตีแปะที่มือที่ไม่สร้างความเจ็บปวดหรืออับอายให้กับเด็กนะคะ
ข้อเสียของการตี

1)      ทำพลาด ถึงตาย
ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นนะคะ มีเด็กหลายพันคนต่อปี (จากทั่วโลก) ที่ต้องเสียชีวิตเพราะพ่อแม่ใช้วิธีการตีเพื่อสั่งสอน ด้วยความที่เด็กตัวเล็กกว่าเรามาก การกระทำบางอย่างที่เราไม่คิดว่าจะส่งผลรุนแรงขนาดนั้นก็ทำให้เรื่องน่าเศร้าเกิดขึ้นได้

2)      การตี ทำลายสมอง
เราพยายามทุกวิถีทางให้ลูกเราฉลาด บำรุงตั้งแต่อยู่ในครรภ์ สรรหาสารพัดเมนูตั้งแต่เขาแบเบาะ ส่งเสริมพัฒนาการรอบด้าน แต่เรากลับทำลายสมองเขาง่ายๆ ด้วยการตีของเราค่ะ จากงานวิจัยพบว่า เด็กที่ถูกตี IQ เฉลี่ยต่ำกว่าเด็กที่ไม่ถูกตี ความจำแย่กว่า ทักษะทางภาษาแย่กว่า มีการพัฒนาทางสติปัญญาที่ช้ากว่า และมีการตัดสินใจที่แย่กว่าด้วยค่ะ

3)      การตีทำลายสุขภาพจิต
การตีส่งผลให้มีอาการหดหู่ ซึมเศร้า ติดเหล้า ติดยา มองเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ ซึ่งอาจส่งผลไปถึงการฆ่าตัวตาย

4)      การตีทำให้เด็กก้าวร้าว
เราอาจตีลูกเมื่อลูกไปรังแกน้อง เพราะต้องการสั่งสอนเขาว่า การตีมันทำให้เจ็บ แต่ผลที่ได้คือ เด็กกลับก้าวร้าวขึ้น และใช้กำลังในการตัดสินมากขึ้น เด็กที่ถูกตีมักเป็นเด็กที่ไปรังแกเพื่อนที่โรงเรียน

5)      การตีทำให้ความสามารถในการควบคุมตัวเองของเด็กไม่พัฒนา
ยิ่งเราตีเพื่อควบคุมเด็ก เด็กก็ยิ่งไม่รู้จักที่จะควบคุมตนเอง เพราะเขารู้ว่าพ่อแม่คอยควบคุมดูแลเขาอยู่ เขาไม่ได้หัดควบคุมความต้องการของตัวเองเลย

6)      การตีทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกแย่ลง
การตีทำให้เด็กไม่เชื่อใจพ่อแม่ เด็กอาจรู้สึกว่าไม่เป็นที่ต้องการของพ่อแม่

ข้อสรุปที่ 2 : ตี = ทำร้ายร่างกาย ทำลายความสัมพันธ์ ส่งผลเสียต่อสมอง จิตใจ และพฤติกรรม

ถ้าถามว่าตีเบาๆ ได้มั้ย ต้องตอบตรงๆ ว่า ตีเบาๆ ไม่ได้มีผลเสียอย่างที่พูดถึงค่ะ แต่ส่วนตัวแล้วรินไม่ใช้การตีเลย และจากประสบการณ์ สำหรับรินแล้วการยึดมั่นในนโยบายไม่ตีเลยมันดีกว่าการเลือกที่จะ ตีเบาๆมาก เพราะรินเคยปรี๊ดลูกอยู่หลายครั้ง บางครั้งก็เกือบจะเผลอฟาดให้เต็มแรง แต่เพราะการยึดนโยบายไม่ตีไว้ ทำให้ไม่ตีเลย และหันไปรับมือด้วยวิธีการอื่นแทน ในทางทฤษฎีเองก็เช่นเดียวกัน การลงโทษต่างๆ มักจะได้ผลน้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป เพราะฉะนั้น ถ้าเรายอมรับการตีเบาๆ ตั้งแต่แรก เราก็มีโอกาสตีแรงขึ้นเมื่อตีเบาๆ มันเริ่มไม่ได้ผล

แต่การไม่ตีเลยก็สร้างปัญหาให้กับหลายคนเหมือนกันค่ะ  เราเองก็เห็นตัวอย่างกันชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่กระทรวงศึกษาประกาศว่าครูห้ามตีเด็ก ครูบางคนก็ลงโทษด้วยการให้เด็กถอดเสื้อผ้า ครูบางคนให้คาบรองเท้า อมขี้หมา ครูบางคนปลง เลิกสั่งสอนไปเลยก็มี รินคิดว่าที่เป็นอย่างนั้นไม่ใช่เพราะครูเหล่านั้นเป็นครูที่ไม่ดี แต่อาจเป็นเพราะครูเหล่านั้นกำลังตกอยู่ในสภาพจนตรอก ไม่มีทางเลือกอื่นในการอบรมและควบคุมวินัยเด็กๆ พอกระทรวงสั่งห้ามตี ก็เลยทำอะไรไม่ถูก

การเป็นพ่อแม่ที่ตั้งใจจะไม่ตีก็เหมือนกันค่ะ ถ้าเราไม่ศึกษาวิธีการอบรมสั่งสอนแบบอื่นๆ สุดท้ายแล้วเราก็จะเหมือนกับตัวอย่างที่เราเห็นจากครูเหล่านั้น คือ เราวิ่งไปหาการลงโทษที่รุนแรงกว่า หรือไม่ก็ปลง เลิกลงโทษ เลี้ยงแบบตามใจไปเลย ซึ่งมันจะสร้างผลเสียมากกว่าการตีเป็นอย่างมาก

โชคดีที่ทุกวันนี้เราสามารถเข้าถึงสื่อความรู้ได้ง่ายขึ้นมาก ข้อมูลวิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวกมีให้เราเลือกรับมากมาย ทั้งผ่านทางหนังสือ การฝึกอบรม หรือกระทั่งอินเตอร์เน็ทเอง ก็มีหลายหน่วยงาน มีจิตแพทย์หลายท่านมาให้ความรู้ในการเลี้ยงเด็ก เราสามารถสอนลูกเราได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการสอนแบบชี้แนะ ให้ลูกรับผิดชอบการกระทำ หรือการปล่อยให้ลูกได้รับบทเรียน เชื่อมั้ยคะ พ่อแม่บางคนที่ตีลูกแรงๆ เพราะลูกขโมยเงิน กลับไม่กล้าตัดเงินค่าขนมลูก ทั้งๆ ที่มันรุนแรงน้อยกว่า สมเหตุสมผลกว่า และเด็กได้เรียนรู้มากกว่าแท้ๆ แปลกมั้ยล่ะคะ

เด็กจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับการสั่งสอนค่ะ การตีเป็นการลงโทษ และการลงโทษไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการสั่งสอน กลับกัน การลงโทษยังเป็นอุปสรรคต่อการสั่งสอนอีกด้วยค่ะ

ถ้าใครใช้วิธีการตีลูกอยู่ ต่อไปนี้ก่อนจะตีลูก ลองหยุดคิดสักนิด เราต้องการสอนอะไร และเราจะสอนได้ด้วยวิธีใด มีอะไรที่ลูกควรรับผิดชอบบ้าง มีอะไรที่เขาควรแก้ไขด้วยตัวเองบ้าง มีบทเรียนอะไรให้ลูกได้เรียนรู้บ้าง แล้วลูกจะเติบโตมาเป็นคนสมบูรณ์อย่างที่เราคาดหวังค่ะ

#รักลูกให้กอด


อ้างอิง
http://www.endcorporalpunishment.org/
http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2896871/

Tag: ตีลูก ผลเสีย ผลกระทบ เลี้ยงลูกโดยไม่ตี

ความคิดเห็น

  1. ถ้าไม่ตีแล้ว จะต้องสอนอย่างไรบ้างครับ
    ตัวอย่างเช่น ลูกชอบขว้างปาข้าวของ
    เพราะบางครั้งพยามพูดแล้วลูกก็ยังมีพฤติกรรมเช่นเดิม

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ขว้างปาข้าวของ เข้าใจว่าต่ำกว่า 3 ขวบใช่มั้ยคะ

      เด็กไม่เข้าใจว่าทำไมปาไม่ได้ บางครั้งเด็กก็ทำไปเพราะอยากรู้ว่าปาแล้วจะเป็นยังไง

      สำหรับเด็กเล็กเวลาน้องจะปา ให้จับมือน้องไว้ แล้ววางของลง พร้อมกับสอนว่าวางเบาๆ ถ้าโตขึ้นมาหน่อย พอเข้าใจเหตุผลแล้วสอนเพิ่ม เราไม่ปาของเพราะของจะแตก

      รายละเอียดการสอนโดยไม่ตีมีค่อนข้างเยอะ รบกวนอ่านเพิ่มในโพสท์ไม่ตีก็ดีได้นะคะ

      ถ้าสงสัยอะไรตรงไหน หรือน้องมีปัญหาอะไร อินบอกซ์เข้ามาคุยกันได้ที่เฟซบุ๊ค รักลูกให้กอด บล็อกมันไม่มีแจ้งเตือน บางทีรินไม่เห็นว่ามีใครทิ้งคำถามไว้ค่ะ

      ลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สิ่งจำเป็นพื้นฐาน 4 อย่าง (Maslow's hierarchy of needs - 4 basic needs)

การเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ (Importance of Play)

คิดก่อนสอน (Respond not react)