การเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ (Importance of Play)

ในการเลี้ยงลูกเชิงบวก รากฐานที่สำคัญที่สุดคือความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูก และวิธีสร้างความสัมพันธ์ที่ได้ผลดีที่สุดวิธีหนึ่งคือการเล่นด้วยกัน แต่น่าเสียดายที่เด็กๆ หลายคนไม่มีโอกาสได้เล่นอย่างเต็มที่ ในโลกที่แข่งขัน เราอาจมองว่าการเล่นเป็นเรื่องเสียเวลา ลูกต้องฝึกทำโจทย์ ต้องเรียนพิเศษ เพื่อไปสอบแข่งกับคนอื่น .. รินเห็นด้วยว่าเราต้องพัฒนาสมองลูก แต่การสร้างความสัมพันธ์ก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้กัน ดังนั้น รินขอแนะนำการเล่นที่จะตอบโจทย์เราทั้งสองอย่างค่ะ

1) การเล่นแบบใช้ร่างกาย เล่นโลดโผน

การเล่นแบบนี้จะทำให้สมองส่วนบนพัฒนา ทำให้รับมือกับอารมณ์และความเครียดได้ดี การที่ลูกได้สนุกตื่นเต้นและหัวเราะเต็มที่จะทำให้สารเคมีที่ดีต่อสมองหลั่งออกมา มีการเก็บข้อมูลจากโรงเรียนอนุบาลในญี่ปุ่นพบว่า โรงเรียนที่เล่นแบบนี้ก่อนเข้าเรียนจะทำให้เด็กๆ มีสมาธิสูงกว่านักเรียนในโรงเรียนอื่นๆ โดยจะสามารถนั่งนิ่งๆ ตั้งใจฟังคุณครูในห้องเรียนได้ นอกจากนั้น การเล่นแบบนี้ยังเป็นการเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ส่งผลให้ลูกเติบโตไปเป็นคนมีบุคลิกดี ดูสง่าผ่าเผย กล้ามเนื้อหลังที่แข็งแรงช่วยให้นั่งเรียนหนังสือได้นานและช่วยลดการเกิดกระดูกสันหลังคดเมื่อลูกโตขึ้นด้วยค่ะ

เล่นแบบนี้เล่นยังไง?

การปล่อยให้เด็กได้วิ่งเล่นปีนป่ายก็อยู่ในกลุ่มนี้ค่ะ แต่ถ้าเราต้องการสร้างสัมพันธ์ไปด้วย เราก็ต้องเข้าไปเล่นกับลูกด้วย เช่น พาลูกบินไปบนขาหรืออุ้มเหาะไปแบบซูเปอร์แมน เล่นขี่ม้า ให้ลูกปีนขาปีนตัวเรา วิ่งไล่จับ(จับได้จั๊กจี๋หรือเป่าพุง) อุ้มโยน จับเหวี่ยง เต้นรำกัน เอาลูกมานั่งบนผ้าแล้วลากไปทั่วบ้าน หรือเอาลูกมาเดินบนเท้าเรา เป็นต้น

กอดรัดฟัดเหวี่ยงแล้วหัวเราะกันให้เต็มที่!
รูปจาก https://www.flickr.com/photos/gracewong/141392051

*การเล่นแบบใช้ร่างกายหลายอย่างเกินกำลังของคุณแม่ ถ้าคุณพ่อเข้ามาช่วยได้จะดีมากๆ เลยค่ะ มีงานวิจัยหลายชิ้นว่าการพ่อที่เล่นกับลูกจะช่วยให้ลูกฉลาดขึ้นด้วยนะคะ 

จากประสบการณ์ที่รินเล่นกับลูกแบบนี้มาตลอด รินพบว่านอกจากเราจะได้กระชับความสัมพันธ์กันแล้ว ผลพลอยได้อีกอย่างคือ อัณณาเป็นเด็กที่แข็งแรง ไม่ค่อยป่วย และมีสมาธิในห้องเรียนอย่างมากจนครูเขียนชมกลับมาทุกอาทิตย์เลยค่ะ (ถ้าใครอยากได้ตัวอย่างการเล่นแบบนี้เพิ่ม รินขอแนะนำหนังสือชื่อ เล่นกับลูกให้ถูกวิธีไม่ยากเลย ของสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ค่ะ)


2) การเล่นอิสระหรือการเล่นแบบไม่มีกฎเกณฑ์


นอกจากมันจะสนุกที่สุดและเป็นการปลดปล่อยความเครียดที่ดีแล้ว การเล่นแบบนี้เป็นวิธีการพัฒนาทักษะการคิดที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก มันจะช่วยให้ลูกได้มีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะการแก้ปัญหา และพัฒนาไปสู่ทักษะทางสังคม

เล่นแบบนี้เล่นยังไง?

การเล่นแบบนี้เกิดขึ้นได้ง่ายนอกบ้านและเมื่อเราไม่ไปคอยจุกจิกกำกับลูก ถ้าเราสังเกตดู เวลาเราปล่อยให้เด็กๆ อยู่ด้วยกัน พวกเขาจะคิดอะไรสนุกๆ ขึ้นมาแล้วเล่นด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ประกอบอะไรมากมาย แค่ใบไม้หรือก้อนหินก็ทำให้ลูกเล่นสนุกได้ทั้งวันแล้ว ลองนึกถึงสมัยเราเด็กๆ ที่ได้ไปเล่นกับเพื่อนนอกบ้านจนเกือบมืดทุกวัน ตอนนั้นแค่รองเท้าแตะของเราก็เอามาเล่นได้สารพัดอย่างแล้วค่ะ

ถ้าเราต้องการสร้างสัมพันธ์ไปกับลูกด้วย เราสามารถปรับการเล่นแบบนี้ ด้วยการทำตัวเป็นเพื่อนเล่นกับลูก ซึ่งทำได้โดย
i) ทิ้งความเป็นผู้ใหญ่ไปก่อน 
ไม่จำเป็นต้องสั่งสอนลูกตลอดเวลา เวลาเล่นคือเวลาที่เราต้องสนุกไปกับลูก ถ้าเล่นไปสอนไปบ่นไป ลูกคงไม่อยากเล่นด้วย จำไว้ว่าไม่มีอะไรผิดในการเล่นที่ไม่มีกฎ ลูกจะระบายดวงอาทิตย์เป็นสีเขียวก็ไม่เห็นแปลก จะเลอะเทอะบ้างก็ไม่เห็นเป็นไร เล่นเสร็จก็ช่วยกันเก็บก็ได้ พยายามอย่าห้ามถ้ามันไม่อันตราย
ii) ปล่อยให้ลูกนำแล้วเราคอยตอบสนอง ด้วยการ
- สังเกตสิ่งที่ลูกทำและบรรยายออกมา (หนูกำลังผสมสีเหลืองกับสีแดง)
- มีส่วนร่วม (ถ้าลูกเอารถมาเล่น เราอาจเล่นเป็นปั๊มน้ำมัน ถ้าลูกสมมติว่าไปเที่ยว เราอาจช่วยลูกสร้างที่พัก ลูกเล่นเป็นหมอ เราอาจเป็นคนไข้ พยาบาล หรือกระทั่งรถพยาบาลพาคนไข้มาส่ง)
- สัมผัสลูกบ้างระหว่างการเล่น ลูบหัว ลูบหลัง
- ชมในสิ่งที่ลูกทำ (โอ้โห เจ้ากบตัวนี้สีรุ้งสดใสดีจังเลย)

เกมตกปลากลายเป็นคนไข้มาทำฟัน สีเป็นฟลูออไรด์รสต่างๆ อัณณาเป็นหมอฟัน โดยมีแม่เป็นผู้ช่วย
การเล่นแบบให้ลูกนำ นอกจากลูกจะมีความสุขและได้เรียนรู้แล้ว มันยังจะช่วยลดความตึงเครียดของบ้าน เมื่อลูกได้โอกาสนำเราในการเล่น ลูกก็จะยอมตามเราเมื่อเราต้องนำ ลูกจะต่อต้านเราน้อยลง และเมื่อเล่นกับเราแล้วสนุก ลูกก็จะอยากเล่นกับเรามากขึ้น ความสัมพันธ์ก็จะดีขึ้น ลูกก็จะพยายามเป็นเด็กดีและทำให้เราพอใจมากขึ้นด้วยค่ะ

งานวิจัยหลายชิ้นบอกว่า เด็กๆ ในยุคนี้หลายคนประสพกับปัญหาเนื่องจากได้เล่นไม่พอ แต่การเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ การเล่นเป็นสิ่งจำเป็น (สสส เคยให้หลักในการเสริมพัฒนาการลูกไว้ว่า กิน กอด เล่น เล่า) มันช่วยทำให้ลูกสุขภาพจิตดี ร่างกายแข็งแรง สมองพัฒนา มีทักษะต่างๆ ติดตัวไป และเป็นช่องทางที่ดีในการกระชับความสัมพันธ์กับเราด้วยค่ะ หาเวลามาเล่นกับลูกกันนะคะ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สิ่งจำเป็นพื้นฐาน 4 อย่าง (Maslow's hierarchy of needs - 4 basic needs)

คิดก่อนสอน (Respond not react)