คิดก่อนสอน (Respond not react)

รินมีคาถาวิเศษที่จะช่วยให้เราสอนลูกได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปะทะกับลูกน้อยลง และสร้างบาดแผลให้กับลูกน้อยลงมาฝากค่ะ คาถานั้นประกอบไปด้วยคำถาม 3 ข้อด้วยกัน เป็นคำถามที่เราควรหยุดคิด และถามตัวเองทุกครั้งเมื่อเราเจอเหตุการณ์ที่เราคิดว่า ลูกทำไม่ถูกละ ต้องสอนกันหน่อยละ คำถามนั้นคือ ทำไม อะไร และอย่างไร

1) ทำไมลูกถึงทำแบบนี้
2) เราอยากจะสอนอะไรลูก
3) เราจะสอนลูกอย่างไรให้ได้ผลดีที่สุด

คำถามข้อแรก เราถามตัวเราเองเพื่อที่เราจะได้เข้าใจว่าปัญหาคืออะไร เราถามด้วยความอยากรู้ อยากเข้าใจ อยากมองเห็นปัญหา จะได้แก้ไขได้ ไม่ได้ถามเพื่อตีตรา คำตอบลักษณะประชด ต่อว่า เช่น "ก็ลูกเป็นเด็กเหลือขอ" "ก็ตามใจกันจนเสียคน" ไม่ช่วยอะไรนะคะ คำตอบต่อคำถามนี้สำคัญที่สุด เพราะเราจะสอนและแก้ไขในสิ่งที่เรามองว่าเป็นปัญหาค่ะ (สำหรับเด็กโต เราสามารถถามลูกได้นะคะ ว่าเพราะอะไร ลูกถึงทำแบบนั้น แต่ต้องถามด้วยนำเสียงและท่าทีอยากเข้าใจและอยากช่วยเหลือ ไม่ใช่ถามเพื่อเอาเรื่องหรือต่อว่านะคะ)

คำถามข้อที่สอง เราถามตัวเอง เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น เราจะมองไปว่าเราต้องการสอนอะไรลูก เราต้องการให้ลูกได้อะไร ไม่ว่าจะในระยะสั้นหรือระยะยาว

คำถามข้อที่สาม เราจะมองว่า ด้วยลักษณะนิสัยลูก ด้วยวัยของลูก ด้วยสภาพแวดล้อมของลูก เราจะสอนอย่างไรให้ได้ผลตามที่เราต้องการ เราจะออกแบบการสอนให้เข้ากับลักษณะเฉพาะของเด็กและต่อเหตุการณ์นั้นๆ ค่ะ

ยกตัวอย่างให้ฟังเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นนะคะ (คำตอบต่อคำถามแต่ล่ะข้ออาจแตกต่างกันไปตามลักษณะพื้นฐานของเด็กแต่ล่ะคน และเรื่องที่ต้องการสอนก็สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามค่านิยมของแต่ล่ะบ้าน ไม่จำเป็นต้องเป็นตามนี้นะคะ คุณพ่อคุณแม่และคนที่เลี้ยงเด็กมา รู้ดีที่สุดว่าควรตอบอะไรค่ะ)

เช่น
เราบอกลูกวัย 4 ขวบว่าเดี๋ยว 6 โมงเย็นเราไปเล่นด้วย พอถึงเวลาลูกมาตาม แต่งานเรายังไม่เสร็จ ลูกไม่ยอมรอ ตีหลังเราดังป้าบ

1) ทำไมลูกทำแบบนั้น?
- ลูกโกรธ ลูกรอมาทั้งวันแล้วเพราะเราบอกว่า 6 โมงเราจะเล่นด้วย พอถึงเวลาเรากลับผิดคำพูด ด้วยวัยของลูก อาจยังไม่เข้าใจว่าเวลาโกรธต้องแสดงออกอย่างไร

2) เราอยากจะสอนอะไรลูก?
- บางครั้ง สิ่งต่างๆ ก็ไม่เป็นไปตามแผนที่มันควรเป็น เราจะไม่ตีคนอื่นเวลาโกรธ และเราจะแสดงออกอย่างไรเวลาโกรธ

3) เราจะสอนลูกอย่างไร? 
- ดึงเข้ามากอด พูดคุยเพื่อให้ลูกรับรู้ว่าความรู้สึกของลูกสำคัญและแม่เข้าใจ ขอโทษที่ทำตามข้อตกลงไม่ได้ และบอกลูกว่า การตีเป็นสิ่งที่เราไม่ทำกัน เวลาโกรธ เราจะพูดว่าโกรธ ถ้าโกรธมากเราจะระบายออกด้วยการวิ่งอยู่กับที่แทน

อีกตัวอย่างนะคะ ลูกวัย 3 ขวบ เทแป้งเล่นหมดกระป๋อง (ตามรูปเลยค่ะ -_-")



1) ทำไมลูกทำแบบนั้น?
- ลูกกำลังเล่นสนุก สำหรับลูกแป้งก็เหมือนหิมะ ลูกไม่รู้ว่าเราไม่ชอบให้เล่นเพราะเราเหนื่อยที่จะเก็บกวาด

2) เราอยากจะสอนอะไรลูก?
- สอนให้รับผิดชอบ ทำเลอะก็ต้องเช็ด 

3) เราจะสอนลูกอย่างไร? 
- หยิบไม้กวาดส่งให้ลูก แล้วสอนลูกเก็บกวาดสิ่งที่ลูกทำเลอะ

นอกจากมันจะทำให้เราเห็นปัญหาชัดขึ้น และสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว การคิดแบบนี้ ยังเป็นการสั่งให้สมองส่วนหน้าของเราทำงาน ทำให้เราปรี๊ดลูกน้อยลง ใช้สัญชาตญาณโต้ตอบ (ซึ่งมักทำให้เราเสียใจที่หลัง) น้อยลง ลองหัดใช้กันดูนะคะ ใหม่ๆ จะติดขัดและตอบสนองช้าหน่อย แต่ช้าหน่อยดีกว่าเร็วไปแล้วต้องคอยมาแก้ไขทีหลังมากค่ะ

อย่าลืมนะคะ ในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดสำหรับเรา มันหมายถึงโอกาสดีที่ลูกจะได้เรียนรู้และเติบโต เราไม่จำเป็นต้องพยายามสอนลูกตลอดเวลา แต่อย่าพลาดที่จะฉวยโอกาสทองนั้นนะคะ

#รักลูกให้กอด

ความคิดเห็น

  1. กระตุกซะมองผ่านไม่ได้ ต้องกลับมาอ่าน ขอบคุณค่ะ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สิ่งจำเป็นพื้นฐาน 4 อย่าง (Maslow's hierarchy of needs - 4 basic needs)

การเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ (Importance of Play)