สิ่งจำเป็นพื้นฐาน 4 อย่าง (Maslow's hierarchy of needs - 4 basic needs)

บทความนี้อ้างอิงจากทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ และส่วนหนึ่งของหนังสือชื่อ A Parent's Guide to Gifted Children และ If I Have to Tell You One More Time นะคะ

รินคิดว่าพวกเราส่วนใหญ่เคยได้เรียนหรือได้ยินทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์มาแล้วทั้งนั้น แต่ลืม (รินก็เช่นกัน) จนวันนึงที่รินมีลูก เจ้าทฤษฎีนี้มันกลับมาวนเวียนอีกครั้ง และทำให้รินได้เข้าใจลูกมาขึ้น รินจะเล่าให้ฟังว่ามันเกี่ยวกับลูกเรายังไง แล้วเราจะนำมันไปใช้ยังไง

ก่อนอื่น เพื่อความเข้าใจตรงกัน ความต้องการในที่นี้ มาจากภาษาอังกฤษว่า need นั่นคือ มันไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือย มันเป็นสิ่งจำเป็น ขาดไม่ได้ เหมือนอากาศ เหมือนอาหาร เราต้องผ่านแต่ล่ะลำดับไปเพื่อสู่ลำดับถัดไป

ทฤษฎีของมาสโลว์ว่าไว้ว่า มนุษย์เรามีลำดับขั้นความต้องการดังนี้ค่ะ 
ลำดับที่ 1 ความต้องการทางด้านร่างกาย (Physiological needs)
ลำดับที่ 2 ความต้องการความปลอดภัย (Safety needs)
ลำดับที่ 3 ความต้องการความรัก ความต้องการเป็นส่วนหนึ่ง (Belonging and love needs)
ลำดับที่ 4 ความต้องการการยอมรับ (Needs for esteem)

ลำดับถัดๆ ไปจะเป็นเรื่องการเรียนรู้ การเติบโตทางจิตใจในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง รินขอหยุดแค่ 4 ลำดับนี้ เพราะเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างสมบูรณ์ในวัยเด็ก ถ้าลูกเราได้รับความต้องการพื้นฐานไม่ผ่านลำดับที่ 4 เขาจะมีปัญหาในการก้าวสู่ลำดับถัดๆ ไป ซึ่งเป็นลำดับในการเติบโต เรียนรู้ และพัฒนาตนเอง นอกจากนั้นแล้ว ด้วยสัญชาตญาณของมนุษย์ เราทุกคนจะสู้เต็มที่เพื่อให้ได้มาซึ่ง 4 อย่างนี้ค่ะ

ลำดับที่ 1 ด้านร่างกาย พ่อแม่ทุกคนทำตามสัญชาตญาณอยู่แล้วค่ะ เราจะให้ลูกกินอิ่ม นอนหลับเพียงพอ (บางท่านคำนวณสารอาหารในแต่ล่ะมื้อด้วยซ้ำไป) เรื่องนี้ผ่านค่ะ

ลำดับที่ 2 ความปลอดภัย เรื่องนี้ยังพบเห็นในสังคมไทยค่ะ เราต้องเข้าใจก่อนว่า ความกลัวที่เกิดจากการถูกข่มขู่ ถูกรังแก หรือกลัวถูกตี จะข่มพัฒนาการด้านอื่นๆ ของลูกที่ควรมีโดยเฉพาะเมื่อเขารู้สึกว่าไม่มีใครคอยช่วยเหลือเขา  อย่างเช่น เด็กที่ถูกรังแกที่โรงเรียนมักมีปัญหากับการจดจ่ออยู่กับการบ้าน.. ถ้าสังเกตว่าลูกกำลังถูกอะไรคุกคามอยู่ อย่างเด็กข้างบ้านมาขู่เอาเงินค่าขนม ต้องไม่มองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ นะคะ ความกลัวว่าจะไม่ปลอดภัยของลูกเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเขาค่ะ (การขู่ลูกก็ส่งผลให้ลูกไม่สามารถเรียนรู้และเติบโตด้วยเช่นกันค่ะ)

รินขอเจาะลึกลงในลำดับที่ 3 และ 4 นะคะ พฤติกรรมที่น่าปวดหัวของลูกมักมาจากความต้องการ 2 อย่างนี้ไม่ได้รับการเติมเต็มค่ะ

ลำดับที่ 3 ความต้องการความรักและความเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว
เมื่อขาด ลูกจะเรียกร้องความสนใจค่ะ.. อะฮ่า นี่เอง เจ้าตัวปัญหา .. มีบ้านไหนลูกเรียกร้องความสนใจมั้ยคะ? ถ้าไม่มี รินขอยกมือเองค่ะ บ้านรินเองเลยนี่แหละ รินว่ารินก็ให้ความรักความอบอุ่นเต็มที่นะคะ แต่บ่อยครั้งมากที่ลูกอ้อนและยังเรียกร้องความสนใจ อย่างเช่น กินข้าวเองก็ได้แต่อยากให้ป้อน ใส่ถุงเท้าเองก็ได้แต่อยากให้ใส่ให้ บางทีก็เรียก แม่ แม่ แม่ ตลอดเวลาที่แม่หันไปสนใจอย่างอื่นมากกว่า เช่น หันไปทำกับข้าว หันไปกดโทรศัพท์ ..

รินเคยถามลูกค่ะ ว่าหนูทำเองก็ได้ ทำไมต้องให้แม่ทำให้ด้วย สาวน้อยในวัย 3 ขวบตอบมาว่า "เวลาแม่ทำให้ หนูรู้สึกว่าแม่รักหนู"

เมื่อลูกเรียกร้องความสนใจ มันไม่เกี่ยวว่าเราให้ความรักความสนใจลูกไปแค่ไหนแล้ว สิ่งสำคัญมันอยู่ที่ลูกยังรู้สึกขาดค่ะ เด็กแต่ล่ะคนต้องการไม่เท่ากัน ลูกรินกินข้าวน้อย แต่หิวความรักมากค่ะ เรามีหน้าที่เติม เติมมันเข้าไป เติมจนกว่าลูกจะรู้สึกอิ่มค่ะ


มีเทคนิคเล็กน้อยในการเติมความรักให้ลูก คือให้สร้างเวลาคุณภาพให้กับลูกวันล่ะ 2 ครั้ง ครั้งล่ะ 10 นาที เช้ารอบ เย็นรอบ รินเลือกวิธีการไปเดินเล่นกับลูกที่สนามเด็กเล่นตอนเช้า ปล่อยคุณพ่อเช็ครถไป เราก็ไปเดินกะลูก เดินจับมือกันไปคุยกันไป พ่อเช็ครถเสร็จก็ขับมารับที่สนามเด็กเล่น ตอนเย็นก็ปูเสื่อนั่งหน้าบ้านเล่นด้วยกันระหว่างรอข้าวสุก ทำทุกวัน ลูกดีขึ้นเยอะมากค่ะ อาการเรียกร้องความสนใจหายไปเยอะเลย (ถ้าลูกเรียกร้องในสิ่งที่ไม่เหมาะสมในตอนนั้น ให้หันมาพูดกับลูกด้วยเหตุผลนะคะ การตามใจลูกไม่ใช่การตอบสนอง need ของลูกและไม่ช่วยแก้ปัญหาค่ะ)

เมื่อเด็กขาดความรักมากจนถึงขั้นรู้สึกสิ้นหวัง เขาจะตัดตัวเองออกจากโลกภายนอก ดูไร้อารมณ์ กรณีนี้น่าเป็นห่วงมากกว่าการเรียกร้องความสนใจเยอะมากค่ะ ต้องรีบให้การช่วยเหลือค่ะ  

ลำดับที่ 4 ความต้องการการยอมรับ
การรู้สึกว่าได้รับการยอมรับในที่นี้ หมายถึง เขารู้สึกว่าเสียงของเขามีความสำคัญ รู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถ ทำอะไรสำเร็จได้ด้วยตัวเอง มีสิทธิ์ มีอำนาจในบางเรื่อง  

ถ้าลูกรู้สึกขาดสิ่งนี้ เขาอาจมีอาการ ดื้อต่อต้าน อยากเอาชนะ หรือขาดความมั่นใจ ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง

ลองมาดูกิจวัตรประจำวันของเรากับลูกค่ะ ว่าเราเสริมข้อนี้ให้กับลูกแค่ไหน ตื่นเช้ามา เราสั่งให้ลูกถอดเสื้อผ้าอาบน้ำ ลูกทำช้าเราเดินเข้าไปถอดให้ เพราะจะไปเรียนไม่ทัน แต่งตัว ป้อนข้าว ลูกขอเอาของเล่นขึ้นรถไปด้วย เราหันไปดุ เอาแต่เล่นอยู่นั่นแหละ ขึ้นรถได้แล้ว 

ถ้าทั้งวันมีแต่คำสั่งของเรา ลูกคงรู้สึกว่าเขาไม่มีอำนาจเลย
ถ้าสิ่งที่ลูกคิดลูกอยากทำไม่เคยได้รับการตอบรับ ลูกคงรู้สึกว่าเสียงของลูกไม่สำคัญ
ถ้าลูกถูกตำหนิตลอดเวลา ลูกคงรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่ได้เรื่อง
ถ้าลูกไม่มีโอกาสได้ทำอะไรเองเลย ลูกจะเอาความเชื่อมั่นว่าตัวเองก็เจ๋ง ตัวเองก็ทำได้มาจากไหน



ลองเปลี่ยนจากคำสั่งเป็นให้ตัวเลือกจาก "ไปกินข้าวเดี๋ยวนี้" เป็น "จะกินตอนนี้เลยหรือจะเล่นต่ออีก 5 นาที"

ลองหันมาฟังและเจรจาด้วยเหตุผล อะไรที่เราไม่มีเหตุผลจะค้าน แปลว่าเรายอมลูกได้ จะเอาของเล่นขึ้นรถไปด้วยอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ก็ได้

ลองหันมาจับถูกมากกว่าจับผิด ลูกมีดีตั้งหลายอย่าง ชมลูกบ้างเมื่อลูกทำดี ขอบคุณลูกบ้างเมื่อลูกช่วย ไม่ต้องรอจนสอบได้เกรดสี่ แค่รับผิดชอบทำการบ้านด้วยตัวเองก็น่าชื่นชมแล้ว

ลองให้ลูกทำอะไรด้วยตัวเอง ช้าหน่อย แต่ไม่มีใครทำอะไรเก่งทำอะไรคล่องตั้งแต่วันแรก ตอนรินเป็นเด็ก รินใช้เวลา 15 นาทีในการใส่เสื้อนักเรียน จะให้ลูกอาบน้ำแต่งตัวเสร็จใน 15 นาทีเหมือนเราในวันนี้ก็คงยาก เผื่อเวลาสักหน่อย ปัญหาก็จะคลี่คลายลง

อีกทางออกนึงในการช่วยให้ลูกผ่านข้อ 4 ของทฤษฎีนี้ คือ "งานบ้าน" ค่ะ งานบ้านได้สอนให้คิด ได้ลงมือทำ ได้เห็นผลงานของตัวเอง ได้รู้สึกว่า เฮ้ย ฉันทำได้ บ้านสะอาดเพราะฉัน พอเราชมที่ลูกช่วย ลูกก็รู้สึกว่าเรายอมรับเขา

ก่อนที่จะมุ่งเน้นกำจัดพฤติกรรมไม่ดี ลองหันมาทบทวนดูว่า เบื้องหลังของพฤติกรรมลูก มีอะไรใน 4 ข้อนี้ที่ขาดไปรึเปล่า ตอนนั้นลูกเหนื่อยเกินไปมั้ย ง่วง หรือ หิว รึเปล่า ลูกรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย ขาดความรัก หรือขาดความรู้สึกว่าเรายอมรับรึเปล่า เพราะการมุ่งเน้นไปที่พฤติกรรมไม่ดี อาจทำให้เรามองข้ามสาเหตุของปัญหาไป ถ้าเราไม่แก้ที่สาเหตุ ปัญหาก็กลับมาใหม่ 

บ่อยครั้งที่ปัญหาเกิดจากลูกดิ้นรนเพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการ 4 อย่างนี้ เมื่อความต้องการได้รับการตอบสนอง ปัญหาก็ได้รับการแก้ไขค่ะ


Keywords: เรียกร้องความสนใจ ดื้อ ต่อต้าน สิ่งจำเป็นในการพัฒนาจิตใจเด็ก

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ (Importance of Play)

คิดก่อนสอน (Respond not react)