บทเรียนตามธรรมชาติ บทเรียนทรงคุณค่าที่ได้มาฟรีๆ (Natural Consequences)

ถ้าพูดถึงการสอนลูกให้รู้ผิดถูก ให้รู้ผลจากการกระทำ หลายคนมักนึกถึงการลงโทษหรือการตัดสิทธิพิเศษบางอย่าง เช่น ถ้าไม่กินข้าวจะอดออกไปเล่น ถ้าไม่ทำการบ้านแม่จะดุจะตี ซึ่งการวางบทลงโทษแบบนั้นมักมีราคาที่เราต้องจ่ายเพื่อสอนลูก ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับลูกที่แย่ลง ความเครียดที่เราต้องเจอเพื่อสรรหาบทลงโทษที่คิดว่าเหมาะสมกับลูกเพื่อสอนลูก หรือจะเป็นความเหนื่อยที่เราต้องทนบังคับลูกให้ทำ

วันนี้รินขอแนะนำบทเรียนตามธรรมชาติ ที่ถ้าเราใช้เครื่องมือชนิดนี้เป็น ลูกเราจะได้เรียนรู้โดยที่เราไม่ต้องจ่ายอะไรเลยค่ะ

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ทุกอย่างในโลกนี้เป็นเหตุเป็นผลของมันอยู่แล้ว เราต้องกิน ไม่กินเราก็หิว เราต้องทำการบ้าน ไม่ทำเราก็โดนครูลงโทษ

สิ่งเดียวที่เราต้องทำคือ อย่าเข้าไปปกป้องลูกจากบทเรียนตามธรรมชาตินั้นๆ ถ้ามันไม่รุนแรงจนเกินไป ลูกไม่รักษาของเล่นจนมันพังก็อย่ารีบซื้อของเล่นให้ใหม่ ลูกไม่กินข้าวจนหิวก็อย่าสรรหาขนมมาให้กินรองท้อง


วิธีการใช้
1) คิดก่อนว่า อะไรคือผลกระทบตามธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น เช่น ถ้าไม่กินก็จะหิว ถ้าไม่เก็บของเล่น ของเล่นก็จะหายแล้วอดเล่น ถ้าไม่ทำการบ้านก็จะถูกครูทำโทษ
2) อธิบายให้ลูกฟังอย่างชัดเจนว่าอะไรคือผลที่จะตามมา เมื่อลูกทำสิ่งนั้นๆ
3) เมื่อลูกยืนยันว่าจะทำ ให้ปล่อยให้ลูกทำ 
4) เมื่อลูกได้รับผลจากการกระทำของตัวเอง เรามีหน้าที่คอยปลอบใจและแสดงความเห็นใจค่ะ ไม่ต้องซ้ำเติม อย่าพูดว่า "แม่บอกแล้วใช่มั้ย..." เป็นนางฟ้าใจดี สวยๆ ไว้ค่ะ 
5) ถึงตอนนี้ลูกเราก็จะได้เรียนรู้แล้วว่าสิ่งที่แม่เตือนเป็นเรื่องจริง และยังรู้อีกด้วยว่าแม่หวังดีกับเขา เป็นพวกเดียวกับเขา เราก็จะชวนเขาคิดต่อ ว่าทำยังไงดีถึงจะไม่เกิดปัญหานี้อีก ถ้าลูกลืมทำการบ้านจนถูกครูลงโทษมา ก็ชวนลูกคิดต่อว่าทำอย่างไรถึงจะไม่ลืมอีก

รินขอเล่าประสบการณ์รินให้ฟัง ช่วงปลาย 2 ขวบเป็นช่วงที่อัณณาค่อนข้างดื้อค่ะ เหมือนเขากำลังอยากรู้อยากลอง ว่าถ้าไม่ทำตามที่แม่บอกแล้วจะเป็นยังไง วันนึงรินเรียกกินข้าวตามปกติ ลูกก็บอกว่า 
"ไม่เอา ไม่กิน" 
รินก็อธิบายไปตามปกติ "กินเถอะลูก ไม่กินแล้วจะหิวนะ" 
"อัณณาอยากหิว"
"เรากินข้าวอีกทีเลข 6 เลยนะลูก (ชี้นาฬิกาให้ดู) หนูทนไหวเหรอ หิวนะลูก"
"อัณณาไม่กิน อัณณาจะเล่น อัณณาอยากหิว"
"เอาอย่างนั้นจริงๆ เหรอ (หนักใจ) เอาอย่างนั้นก็ได้ แต่ถ้าหนูเปลี่ยนใจจะมากินก่อนก็ได้นะ แม่รอถึงเลข 3 ถึงจะเก็บโต๊ะ"

ลูกก็ทำตามที่พูดค่ะ ไม่กิน รินก็ทำตามที่พูดค่ะ มื้อถัดไปคือเลข 6 
วันนั้นลูกหิวมาก ร้องไห้มาขอโทษ บอกว่าวันหลังจะไม่ทำอีกแล้ว สิ่งที่รินทำคือ รินกอดลูกไว้ บอกลูกไปด้วยเสียงอ่อนโยนว่า "แม่ไม่ได้โกรธหนูเลยลูก แม่รู้ว่าหนูหิว แม่จะรีบหาอะไรให้กิน แต่ข้าวมันต้องใช้เวลาทำน่ะลูก กว่าจะเสร็จก็เลข 6 ทนหิวหน่อยนะคะ (โชคดีที่ตอนนั้นลูกยังเปิดตู้เย็นหาขนมกินเองไม่เป็นค่ะ)"

หลังจากวันนั้นผ่านไป พอลูกจะดื้อไม่ว่าเรื่องอะไร รินก็จะใช้วิธีบอกผลกระทบ พอลูกบอกจะทำ รินถามย้ำอีกครั้ง "เอาอย่างนั้นจริงๆ เหรอลูก" ลูกได้ยินคำนี้ก็จะคิดอีกครั้งและก็เปลี่ยนใจค่ะ

โดยทั่วไป บทเรียนที่ได้จากธรรมชาติเมื่อเขายังเด็ก มักราคาถูกกว่าบทเรียนที่เขาจะได้รับตอนโตเสมอ ถ้ายอมให้ลูกไปเรียนไม่ทันและโดนครูทำโทษเพราะลูกตื่นสายในวันนี้ ก็คงจะเบากว่าที่จะปล่อยให้ลูกโตเป็นผู้ใหญ่ที่แม่ต้องคอยปลุกคอยเตือน และถ้าพลาดก็โดนไล่ออกจากงานเป็นไหนๆ อย่ากลัวที่จะปล่อยให้ลูกได้เติบโตจากบทเรียนนะคะ

#รักลูกให้กอด

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สิ่งจำเป็นพื้นฐาน 4 อย่าง (Maslow's hierarchy of needs - 4 basic needs)

การเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ (Importance of Play)

คิดก่อนสอน (Respond not react)