สร้าง EQ ให้ลูก (Raising EQ Child)

การเลี้ยงลูกเชิงบวก กับ EQ เป็นสิ่งที่เสริมกันค่ะ ถ้าเด็กมี EQ ดี การเลี้ยงลูกเชิงบวกก็จะเป็นไปได้โดยง่ายและได้ผลดี การเลี้ยงลูกเชิงบวกเองก็ช่วยเสริมให้เด็กมี EQ ที่ดีด้วย เพื่อให้ประโยชน์สูงสุดตกอยู่ที่ลูกและครอบครัวของเรา มารู้จัก EQ และการสร้าง EQ ให้กับลูกกันค่ะ

EQ คืออะไร ทำไมมันถึงสำคัญนัก?


ทุกวันนี้ ใครๆ ก็พูดถึง EQ แต่ก็ไม่เคยมีใครบอกเราว่าที่จริงแล้ว EQ คืออะไร และมันสำคัญอย่างไร บ่อยครั้งที่การเลี้ยงลูกของเราก็เลยยังมุ่งไปที่การพัฒนาความฉลาดทางการเรียนเป็นหลัก รินจะพาไปทำความรู้จักกับ EQ และความสำคัญของมัน ก่อนจะพาเข้าสู่เรื่องการพัฒนา EQ ให้กับลูกค่ะ

Credit รูป Vernon Area Public Library www.flickr.com

รินเคยคิดว่า EQ น่ะ หมายถึงการเก็บอารมณ์ไว้ คนที่ EQ ดี หมายถึงคนที่อดทน ไม่วีน ไม่อาละวาด รู้สึกอะไรก็เก็บมันไว้ ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่แบบนั้นเลยค่ะ

ที่จริงแล้ว EQ หมายถึง ความสามารถที่จะระบุ ใช้ เข้าใจ และจัดการอารมณ์ในเชิงบวก เพื่อปลดปล่อยความเครียด สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เอาชนะอุปสรรค และจัดการความขัดแย้งได้ ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ความเข้าใจในอารมณ์ของตนเอง นำความตระหนักรู้นี้มาใช้ในทางที่ดี เข้าใจในอารมณ์และสถานการณ์ของผู้อื่นและนำมันมาสร้างปฏิสัมพันธ์อันดีได้

ลองคิดดูว่า ถ้าเราเป็นพนักงานขาย แล้วเราเข้าใจว่าลูกค้าเรากำลังคิด กำลังรู้สึกอย่างไร ต้องการอะไร เราคงจะสามารถตอบโจทย์ลูกค้าและปิดการขายได้โดยง่าย และมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ค่ะ มีการศึกษาว่า คนที่ประสพความสำเร็จสูงสุดในแต่ล่ะสายงาน 90% เป็นคนที่ EQ ดี และจากการศึกษาในอเมริกาพบว่า รายได้โดยเฉลี่ยต่อปีของคนที่ EQ ดี สูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่งถึง 29,000 เหรียญ แม้ว่า IQ เฉลี่ยของแต่ล่ะกลุ่มไม่ต่างกัน

ถ้าเปรียบทักษะการทำงานของเราเป็นต้นไม้ที่แตกแขนงอยู่ข้างบน EQ ของเราก็เปรียบเหมือนรากของทักษะหลากหลายที่ใช้ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น การตัดสินใจ การบริหารจัดการเวลา ความยืดหยุ่น การรับมือกับความเครียด การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การจัดการความโกรธ การแสดงความคิดอย่างสร้างสรรค์ การบริการลูกค้า หรือแม้กระทั่งการพรีเซ้นท์งาน

นอกจากนี้ EQ ยังเป็นรากฐานของชีวิตที่มีความสุข ทั้งความสุขแท้จากความสงบในจิตใจ และสัมพันธภาพอันดีกับคู่ชีวิตด้วยค่ะ

อยากให้ลูกมีคุณสมบัติเหล่านี้ใช่มั้ยคะ ข่าวดีสำหรับทุกคนค่ะ เจ้า EQ เนี่ย มัน "สร้างได้" ค่ะ

เริ่มต้นสร้าง EQ ให้กับลูก


จากที่บอกไป EQ แบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนของความรู้ ความเข้าใจในอารมณ์ และส่วนของการนำไปใช้จะมี EQ ที่ดีได้ ต้องเริ่มจากการรู้จักและยอมรับอารมณ์ของตัวเองค่ะ 

แล้วเราจะสอนให้ลูกรู้จักและเข้าใจอารมณ์ตัวเองได้อย่างไร?

ลองมาดูกันก่อนว่าทุกวันนี้เราตอบสนองกับลูกอย่างไรกับเหตุการณ์เหล่านี้นะคะ
= เหตุการณ์สมมติ =

1) ลูกร้องไห้โฮเพราะทำขนมชิ้นสุดท้ายหล่นลงพื้น
ก) บอกลูกว่า เรื่องแค่นี้เอง ร้องไห้ทำไม เด็กผู้ชายไม่ร้องไห้ เงียบซะ ฮึบ
ข) เบนความสนใจ .. นี่ลูก มาดูซิ แม่มีอะไรอยู่ในตู้เย็นด้วย
ค) กอดลูกไว้ บอกลูกว่า ไม่เป็นไรนะ เอาของแม่ไปกินก็ได้

2) ลูกกรี๊ดและอาละวาดผลักแม่เพราะแม่บอกให้เลิกเล่นแล้วไปอาบน้ำ
ก) ดุลูก ไม่น่ารักเลยนะ ผลักแม่ได้ยังไง ไปอาบน้ำเดี๋ยวนี้
ข) เพิกเฉย ไม่สนใจ อุ้มไปอาบน้ำ หน้าที่ต้องเป็นหน้าที่
ค) บอกลูกว่า เดี๋ยวอีก 5 นาทีแม่มาเรียกใหม่นะ 

มีใครเลือกข้อไหนมั้ยคะ
.
.
.

รินอยากจะบอกว่า ไม่มีตัวเลือกไหนที่ช่วยสอนลูกให้รู้จักและเข้าใจอารมณ์ของเขาที่เกิดขึ้นเลยค่ะ

ในแต่ล่ะวันมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย ที่เปิดโอกาสให้เราได้สอนลูกให้รู้จักอารมณ์ ไม่ว่าจะอารมณ์ดีใจ เสียใจ ผิดหวัง ภูมิใจ เพียงแต่เรามักมองข้ามโอกาสเหล่านั้น เด็กๆ ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับคำศัพท์ในหัวค่ะ เพราะฉะนั้น เรานี่แหละที่จะต้องสอนคำศัพท์เหล่านี้ให้กับลูกเมื่อลูกมีอารมณ์พวกนี้ 

จากเหตุการณ์สมมติ ถ้าเราเลือกที่จะสะท้อนอารมณ์ก่อน ด้วยการบอกลูกไปด้วยความเข้าใจว่า หนูรู้สึกเสียใจที่มันหล่นลงพื้น เลยอดกินเลย เป็นแม่ก็คงเสียใจเหมือนกัน หรือบอกลูกไปว่า แม่รู้ว่าหนูโกรธ หนูกำลังเล่นเพลินๆ อยู่ก็ต้องไปอาบน้ำ แต่มันถึงเวลาที่เราตกลงกันไว้แล้วค่ะ ลูกก็จะเข้าใจว่า เขากำลังรู้สึกอย่างไรอยู่

พระพุทธเจ้าสอนให้เราเข้าถึงความสงบ ด้วยการรู้เท่าทันอารมณ์ ไม่ใช่การปฏิเสธอารมณ์ การสอนลูกให้รู้จักว่าเขากำลังรู้สึกอะไร เป็นก้าวแรกที่ลูกจะสามารถรู้เท่าทันอารมณ์ได้ค่ะ

Credit รูปจาก www.flickr.com/photos/kiuko/7702479662

นิดนึงที่อยากบอก คือ จริงอยู่ว่ามันเป็นสิ่งที่ดีที่จะมอบให้กับลูก แต่ถ้าจังหวะเวลามันไม่ดี ก็ไม่ต้องฝืนนะคะ อย่างถ้าเรากำลังรีบ แล้วลูกงอแง จังหวะนั้นเราไม่มีเวลามาสนใจฟัง และสะท้อนความรู้สึกลูกค่ะ ฝืนไปทั้งเราและลูกจะยิ่งรู้สึกแย่กันเปล่าๆ (การสะท้อนอารมณ์ที่ได้ผลดี ต้องมาจากการเป็นผู้ฟังที่ดีด้วยค่ะ) วันๆ นึงมีโอกาสให้สอนเรื่องความรู้สึกหลายครั้ง โอกาสนี้ไม่เหมาะ ก็ไปใช้กับโอกาสหน้าได้ค่ะ

สะท้อนอารมณ์ได้ผลจริงหรือ?


ก่อนจะลงลึกไปกว่านี้ในเรื่องการสร้าง EQ ให้กับลูก รินอยากจะแชร์ประสบการณ์ให้ฟังค่ะ บางคนอาจรู้สึกว่า การพูดสะท้อนอารมณ์เป็นคำพูดที่ประหลาด ไม่เป็นธรรมชาติ คุณไม่ได้รู้สึกไปคนเดียวค่ะ ตอนรินเริ่มใช้ใหม่ๆ รินก็รู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน ลูกร้องไห้ขนมหล่น แต่ก่อนรินจะดึงมากอดแล้วบอกว่า โอ๋ๆ ไม่เป็นไรนะลูก กินขนมชิ้นอื่นกัน จู่ๆ ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็น ดึงมากอดแล้วบอกว่า หนูคงรู้สึกเสียดายมากเลยเนอะ อุตส่าห์เก็บไว้กินชิ้นสุดท้าย

ที่แย่กว่านั้นคือ ตอนที่เริ่มใช้ใหม่ๆ เนื่องจากเราต้องสะท้อนอารมณ์แทนที่จะรีบเบี่ยงเบนแบบที่เคยทำ บางครั้งมันส่งผลให้ลูกจะร้องไห้นานขึ้นด้วย มันทำให้รินสงสัยเลยว่า นี่เรามาถูกทางรึเปล่า(วะ?) ตอนนั้นก็กลับมานั่งอ่านทฤษฎีใหม่ อืม การสะท้อนความรู้สึกออกมาเป็นคำพูด ไม่ใช่แค่ช่วยส่งเสริม EQ แต่มันยังช่วยเชื่อมโยงสมองซีกขวากับสมองซีกซ้าย และทำให้ลูกรู้สึกว่าเราเข้าใจความรู้สึกเขาและทำให้เขาเปิดใจรับฟังเรามากขึ้นด้วยด้วย (The whole brain child - Daniel Siegel) โอเค ลองต่ออีกหน่อยละกัน

ผ่านไปได้สักเดือนนึง รินเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงค่ะ จากเวลาลูกเสียใจจะร้องงอแงไม่ฟังใคร พูดไม่รู้เรื่อง กลายเป็นคำพูดว่า "แม่ขา อัณณาเสียใจที่ยายไม่เล่นด้วย อัณณาอยากเล่นกับยาย อัณณาผิดหวัง" แล้วน้ำตาหยดแหมะๆ แทน หรือคำพูดเวลารินโกรธว่า "แม่โกรธเหรอ อัณณาขอโทษนะ" มันทำให้รินเริ่มเห็นว่า ลูกเริ่มเข้าใจความรู้สึกแล้ว มันได้ผลค่ะ

ยิ่งเราสะท้อนอารมณ์ของเขา เขาไม่ยิ่งมีอารมณ์นั้นรุนแรงขึ้นหรือ?


รินคิดว่าหลายคนกังวลเรื่องนี้ เราไม่อยากยอมรับความรู้สึกลูก เพราะเรากลัวว่าถ้าเรายิ่งยอมรับ ความรู้สึกนั้นมันจะยิ่งเติบโต เราไม่ยอมรับว่าลูกกลัว เพราะเรากลัวว่าลูกจะยิ่งกลัว เราไม่ยอมรับว่าลูกเสียใจ เพราะเรากลัวว่าลูกจะยิ่งติดอยู่ในความเสียใจ 

แต่จริงๆ แล้วความรู้สึกมันเป็นแบบนั้นจริงๆ หรือ? ลองมาทำความรู้จักกับมันกันค่ะ

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดๆ ความรู้สึกก็เหมือนกับสภาพอากาศค่ะ มันเป็นของจริง เราคงไม่ไปยืนท่ามกลางสายฝนและบอกทุกคนว่า เฮ้ย ฝนไม่ตก จริงมั้ยคะ และในขณะเดียวกัน ก็คงไม่มีใครคิดว่า ฝนที่ตกอยู่มันจะตกตลอดไป อารมณ์ของเราก็เหมือนกันค่ะ มันเป็นของจริง แต่มันจะไม่อยู่อย่างนั้นตลอดไป โดยเฉลี่ย อารมณ์ของเราที่เกิดขึ้นแต่ล่ะครั้ง คงอยู่แค่ครั้งละ 90 วินาทีเท่านั้นเองค่ะ เพราะฉะนั้น ความรู้สึกเสียใจหรือโกรธของลูกในแต่ล่ะครั้ง ก็จะกินเวลาแค่ประมาณนั้น (ถ้าไม่มีอะไรมาคอยกระตุ้นให้เขารู้สึกอีกนะคะ) 

Credit รูปจาก Lindley Ashline www.flickr.com

นอกจากเราควรยอมรับเพราะมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงแล้ว การยอมรับและสอนให้ลูกพูดออกมายังเป็นการบรรเทาความรู้สึกที่เกิดขึ้น และเป็นการกระตุ้นให้ลูกสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงสมองทั้งสองซีกเข้าด้วยกันด้วยค่ะ อย่างที่รู้กันว่า สมองซีกซ้ายทำงานด้านภาษา สมองซีกขวาทำงานด้านอารมณ์ การดึงอารมณ์มาแปลเป็นคำพูด เป็นการบริหารสมองที่ดีวิธีหนึ่งสำหรับลูกเลยนะคะ การสอนให้ลูกพูดถึงความรู้สึกออกมา เลยเหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวเลยค่ะ

สำหรับเด็กโต การสอนให้เข้าใจธรรมชาติของความรู้สึก จะช่วยให้ลูกสามารถต่อยอดไปสู่การดึงจิตออกจากกงล้อแห่งความรู้สึกได้ ตอนรินสอนลูก รินแต่งนิทานเองแล้วเล่าให้ลูกฟังค่ะ (รินพบว่าเด็ก 3 ขวบก็สามารถเข้าใจเรื่องนี้ได้แล้วนะคะ) สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่คิดจะสอนลูกเรื่องธรรมชาติของอารมณ์ รินแนะนำการ์ตูนเรื่อง Inside Out ค่ะ การ์ตูนทำออกมาดีจริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องอารมณ์นะคะ แต่เข้าใจถึงการทำงานของสมองเลยค่ะ

ความรู้สึกกับจิตของเรา มันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน


ก่อนจะสอนลูกดึงสติออกมา เรามารู้จักกงล้อแห่งความตระหนักรู้ก่อนค่ะ ลองนึกภาพล้อจักรยานนะคะ จิตที่สงบของเราหรือตัวตนของเราจริงๆ คือ แกนล้อ ส่วนประสาทสัมผัส ภาพที่นึกถึง ความรู้สึก และความคิด เป็นส่วนของวงล้อ

ปรกติแล้ววงล้อเราก็หมุนไปเรื่อยๆ อย่างที่บอกไปว่าความรู้สึกของเรามันก็เหมือนกับฝน ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ปัญหามันเกิดตรงที่ บางครั้ง เราเอาจิตของเราไปติดอยู่ที่จุดใดจุดหนึ่งของวงล้อ พอเป็นแบบนั้นล้อก็ไม่หมุน เราก็ก้าวไปข้างหน้าไม่ได้ ที่แย่กว่านั้น ถ้าความรู้สึกที่จิตเราไปติดอยู่ มันเป็นความรู้สึกเชิงลบ เราคงไม่มีความสุข ฝนที่ตกอยู่ก็ดูเหมือนจะตกอย่างไม่มีวันหยุด

Credit รูปจาก Richard Weaver www.flickr.com

เราสามารถสอนลูกดึงสติออกมาที่จิตที่สงบของเขาก่อนได้ด้วยวิธีการเดียวกันกับที่เราทำค่ะ บางคนนับ 1 ถึง 10 หายใจเข้าออกช้าๆ ลึกๆ บางคนทำสมาธิ โฟกัสไปที่ลมหายใจ (รินใช้วิธีนับ 1 ถึง 10 ช้าๆ หรือเอามือลูกวางไว้ที่ท้องเขา เพื่อจับลมหายใจเข้าออกค่ะ) การโฟกัสไปที่ลมหายใจก็เป็นทักษะ ยิ่งฝึกยิ่งเก่ง เพราะฉะนั้น การหัดนั่งสมาธิช่วยเด็กๆ ได้มากในเรื่องนี้ค่ะ สำหรับเด็กเล็กๆ รินแนะนำเพลง ดั่งดอกไม้บานของเสถียรธรรมสถาน เป็นตัวช่วยในการเริ่มฝึกสมาธิค่ะ

พอดึงสติลูกออกมาสู่จิตที่สงบแล้ว เราจะสอนให้ลูกมองไปที่เหตุการณ์หรือความรู้สึกนั้น เหมือนกำลังดูหนังเรื่องนึงค่ะ หนังที่เค้าเล่นเอง เขียนบทเอง กำกับบทเอง เขาสามารถเปลี่ยนบทเป็นอะไรก็ได้ เราจะสอนให้เขาลองเปลี่ยนบทดู ด้วยการมองไปที่วงล้อส่วนที่เหลือ หรือแม้กระทั่งเขียนบทใหม่ ตามแต่สถานการณ์นั้นๆ ค่ะ ตัวอย่างเช่น

ถ้าลูกกังวลกับการแข่งขันว่ายน้ำในตอนบ่าย ลองให้ลูกหลับตา ทำสมาธิ แล้วนึกภาพตอนลูกทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ลูกรู้สึกสบายใจ อาจเป็นการเล่นน้ำกับเพื่อน หรือเล่นกับหมาที่บ้าน (สอนให้เขามองไปที่วงล้อส่วนที่เหลือ)

หรือจากหนังเรื่อง แฮรี่ พอตเตอร์ ที่เด็กๆ เปลี่ยนบอกการ์ด (ปีศาจสมมติที่เปลี่ยนรูปร่างเป็นสิ่งเรากลัว) ให้เป็นสิ่งของตลกๆ อย่างสเนปในชุดผู้หญิง หรือแมงมุมยักษ์ใส่เสก็ต ก็เป็นตัวอย่างที่ดีของการเขียนบทใหม่ ให้สิ่งที่น่ากลัวกลายเป็นเรื่องตลกค่ะ

วิธีนี้เหมาะกับเด็กวัยประถมเป็นต้นไป สำหรับเด็กเล็กๆ จะใช้ยากหน่อยเพราะการดูจิตและควบคุมความคิดของตัวเองอาจไม่ง่ายแบบนั้นด้วยความที่สมองของเขามันยังไม่พัฒนามากพอ (เนื่องจากวิธีการนี้ ต้องให้สมองส่วนบนเข้ามาควบคุมสมองส่วนล่าง ซึ่งสมองส่วนบนเริ่มพัฒนาตอนอายุ 3 ขวบ และพัฒนาสมบูรณ์เมื่อ 20 ปลายๆ ค่ะ) ถ้าอยากลองฝึกใช้เราต้องชี้นำให้เขาคิดตามค่ะ

สำหรับลูกสาววัยเกือบ 4 ขวบของริน ที่เคยลองใช้คือ เมื่อก่อนลูกรินงอแงไม่อยากไปเรียน บอกว่าที่โรงเรียนไม่สนุก ไม่อยากทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ทีนี้รินรู้ว่าลูกชอบฟังครูเล่านิทานค่ะ สิ่งที่รินทำ คือ รับฟังและสะท้อนความรู้สึกเพื่อแสดงการยอมรับก่อน “หนูไม่อยากไปเรียน เพราะหนูคิดว่าโรงเรียนไม่สนุก หนูไม่ชอบเพื่อนๆ ที่เล่นแรงๆ หนูกลัวเพื่อนชนเจ็บใช่มั้ยคะ” พอลูกรู้สึกว่าเราเข้าใจ เริ่มเปิดใจ เราก็สอนเขาเข้าสู่ขั้นตอนถัดไปได้ค่ะ “มาจับที่ท้องแล้วนับลมหายใจกันดีกว่า” (สอนให้ดึงสติ) “หนูชอบนิทานที่ครูเล่าใช่มั้ยลูก เวลาได้ฟังนิทานที่ครูเล่า หนูรู้สึกยังไงคะ”
ลูก : “อัณณาชอบฟังนิทาน นิทานมันตลกมากเลย”

แล้วเราก็พูดคุยกันอีกนิดหน่อย สุดท้ายลูกก็เข้าใจว่า ในแต่ล่ะวันที่โรงเรียน มีอะไรเกิดขึ้นหลายอย่าง มีความรู้สึกเกิดขึ้นมากมาย ถ้าเขามัวแต่ติดอยู่ในเรื่องที่เขาไม่ถูกใจ เขาก็ไม่มีความสุขไปทั้งวัน หันมามองเรื่องที่เขาชอบดีกว่าค่ะ

จัดการกับความรู้สึกได้แล้ว มาสอนลูกคุมการกระทำกัน


ตอนนี้ลูกคงจะเข้าใจความรู้สึกของตัวเองแล้ว ขั้นต่อไปของ EQ คือ การควบคุมการการกระทำ หรือแสดงออกอย่างเหมาะสมค่ะ

จากที่ผ่านๆ มา ตอนที่เราสอนลูกให้รู้จักความรู้สึก เรามักจะมีโอกาสในการสอนลูกไปด้วยว่า แต่ล่ะความรู้สึก สามารถแสดงออกมาอย่างไรได้บ้าง เช่น ถ้าลูกโกรธ สิ่งที่ลูกทำได้ คือ การชกหมอน กระโดด เข้าห้องไปตะโกนออกมา ปาบอล หรือ ออกไปวิ่ง สิ่งที่ลูกทำไม่ได้คือ การทำร้ายคนอื่น ไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือการกระทำ

แต่ส่วนที่ยากสำหรับลูกในแสดงออกอย่างเหมาะสมไม่ใช่ส่วนที่ลูกรู้หรือไม่รู้หรอกนะคะ แต่เป็นส่วนของการควบคุมต่างหาก ว่าเขาสามารถควบคุมได้หรือควบคุมไม่ได้ ก็เหมือนกับเราที่รู้ทั้งรู้ว่า การพูดประชดเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่หลายครั้งเราก็มักประชดเพราะเราคุมตัวเองไม่อยู่

แล้วจะสอนให้ลูกควบคุมตัวเองได้อย่างไร?

เริ่มได้ง่ายๆ จากการให้ลูกรู้จักอดทนรอคอย และรู้จักผิดหวังบ้างค่ะ รินไม่ได้บอกให้เราสร้างสถานการณ์อะไรเป็นพิเศษให้ลูกต้องอดทนรอคอย หรือถึงขั้นต้องสร้างเรื่องให้ลูกรู้สึกผิดหวังนะคะ สิ่งเหล่านี้มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวันของลูก สิ่งที่เราต้องระวังคือ อย่ายื่นมือเข้าไปประเคนทุกอย่างให้กับลูกอย่างไม่เหมาะสมเท่านั้นเองค่ะ

Credit รูปจาก Bethany King www.flickr.com

เอาง่ายๆ เวลาไปซื้อของหรือเข้าห้องน้ำก็ต้องต่อคิวใช่มั้ยคะ เราก็อย่าให้ลูกลัดคิวเพียงเพราะเขายังเด็ก เวลาลูกหิวถ้ามันใกล้จะถึงเวลาอาหารก็อย่ารีบเอาขนมให้กิน เราต้องการซื้อขนมให้ลูกครั้งล่ะชิ้นตอนไปซื้อของด้วยกันก็อย่าใจอ่อนยอมเป็นสองชิ้น สามชิ้น หรือเท่าไหร่ก็ได้ตามที่ลูกอยากจะหยิบ
เราแค่กำหนดขอบเขตให้ดี (อย่าลืมตกลงกับทุกคนในบ้านกันก่อนนะคะ เดี๋ยวแม่ไม่ยอมให้อยู่คนเดียวล่ะแย่เลย) อธิบายให้ลูกฟังอย่างชัดเจนในขอบเขตนั้น (อย่างเวลาไปซื้อของ รินจะให้ลูกหยิบขนมได้ชิ้นเดียวค่ะ ช่วงแรกๆ จะย้ำทุกครั้งก่อนลงจากรถ หลังๆ ก็ไม่ต้องบอกแล้วค่ะ) และยึดมั่นในขอบเขตนั้นด้วยความรักความอ่อนโยน ลูกก็จะได้โอกาสที่จะฝึกอดทนรอคอยและเจอความผิดหวังไปตามธรรมชาติ ซึ่งจะพัฒนามาเป็นการควบคุมตัวเองได้ในที่สุดค่ะ

อ้อ เมื่อเริ่มใช้ขอบเขตกับลูก ลูกอาจแสดงอาการลงไปนอนดิ้นกรีดร้องโวยวายประหนึ่งวันสิ้นโลก ไม่ต้องตกใจนะคะ และไม่ต้องตามใจด้วย มันเป็นแค่การแสดงออกทางอารมณ์ของเด็ก เราจะปลอบโยนเขาด้วยความรัก ไม่ใช่ด้วยสิ่งของค่ะ

ขยายขอบเขตความฉลาดทางอารมณ์ 


“เอาดวงใจของเขา ใส่ดวงใจของเรา เราจะรู้ว่าเขา คิดกะเรายังไง คิดอย่างโง้นอย่างงี้ คิดเอาเองเรื่อยไป ไม่ว่าใจของใคร ย่อมอยากให้ใครเข้าใจ เห็นใจ” เพลงแง้มใจ ของคาราบาวค่ะ เพลงนี้ตรงกับเรื่อง EQ เลยค่ะ จริงอยู่ว่าเราคงไปบังคับใครให้คิดถึงความรู้สึกเราด้วยไม่ได้ แต่ถ้าเรารู้จักมองในมุมของผู้อื่น เราก็จะเข้าใจเขามากขึ้น โกรธเกลียดกันน้อยลง ทุกข์น้อยลง ความสัมพันธ์กับคนๆ นั้นก็จะไม่พังง่ายๆ ด้วยนะคะ

Credit รูปจาก www.flickr.com/photos/rumpleteaser/2940847467

พื้นฐานของการเข้าใจคนอื่น คือการเข้าใจตนเอง เราเรียนรู้การสอนลูกให้รู้จักความรู้สึกตัวเอง และการดึงสติออกมาเพื่อใช้จิตมองสิ่งที่อยู่ในหัวไปแล้ว คราวนี้ถึงคราวที่เราจะสอนลูกให้มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และหัดมองในมุมของผู้อื่นแล้วค่ะ

เริ่มง่ายๆ จากการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก เมื่อลูกร้องไห้ โมโห หรือแสดงอารมณ์เชิงลบ การไม่ลงโทษการแสดงออกทางอารมณ์ของลูก แต่ตอบสนองด้วยการพยายามรับฟังอย่างเข้าใจ กอดไว้เพื่อปลอบใจ และพูดคุยแสดงความเห็นใจ ก็จะเป็นพื้นฐานให้ลูกรู้จักที่จะเข้าใจและเห็นใจผู้อื่นค่ะ

การพาลูกไปแบ่งปันสิ่งที่เขามีเหลือให้กับคนที่ขาด เช่น พาไปสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ก็นับเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดี พร้อมไปกับการอธิบายให้ฟังด้วย ว่าเด็กๆ เหล่านั้นน่าเห็นใจอย่างไร หรืออย่างเวลาพาลูกไปโรงพยาบาล เราก็สามารถสอนโดยการให้เหตุผลกับลูกได้ ว่าทำไมเราต้องไม่ใช้โทรศัพท์ ไม่ส่งเสียงดัง ไม่วิ่งเล่น ถ้าเราเป็นคนป่วย เราจะอยากให้คนที่มาโรงพยาบาลเสียงดังมั้ย หรือการตั้งคำถามสมมติว่า “ถ้าหนูเป็นเขา หนูจะรู้สึก จะคิด จะทำ อย่างไร” ก็เป็นวิธีทีดีในการสอนลูกให้หัดมองในมุมของผู้อื่นค่ะ

เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันก็สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีในการสอนลูกได้ค่ะ สมมติลูกคนเล็กเล่นกับพี่อยู่ดีๆ จู่ๆ ก็วิ่งร้องไห้มาฟ้องเราว่าพี่ไม่ให้เล่นด้วย แทนที่เราจะหันไปสั่งให้พี่แบ่งให้น้องเล่น ลองสอนพี่ให้มองในมุมของน้อง ว่าทำไมน้องถึงอยากเล่นด้วย สอนน้องให้มองในมุมของพี่ ว่าทำไมพี่ไม่อยากให้เล่นด้วย (อย่าลืมรับฟังและแสดงความเห็นใจทั้งคู่ก่อนนะคะ เพื่อป้องกันลูกคิดว่าเราเข้าข้างอีกคนนึงค่ะ) ผลที่ได้จากการพูดคุย อาจเป็นน้องยอมรับพี่ พี่ยอมรับน้อง หรือทั้งสองคนหันไปเล่นอย่างอื่นด้วยกันก็ได้ แต่ที่แน่ๆ คือ ลูกเราจะเริ่มหัดมองในมุมของอีกคนนึงค่ะ

อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้การเอาใจเขามาใส่ใจเรา คือ เมื่อเราสอนให้ลูกมองความรู้สึกคนอื่นแล้ว อย่าลืมให้ลูกมองความต้องการของตนเองด้วย เมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นให้สอนลูกให้คิดหาทางออกในมุมของคำว่า “เรา” ไม่ใช่ “ฉัน” หรือ “เขา” เท่านั้นนะคะ เพราะความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ใช่การยอมทุกอย่างเพราะคิดถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายเท่านั้นค่ะ


สร้าง EQ ให้ลูก

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สิ่งจำเป็นพื้นฐาน 4 อย่าง (Maslow's hierarchy of needs - 4 basic needs)

การเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ (Importance of Play)

คิดก่อนสอน (Respond not react)